โครงการ”ค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน”

1489276_10201930663601247_836935830_n

1476552_10201930674921530_755616638_n

1483343_10201930709082384_910390430_n

1524979_10201930708202362_1115764682_n

1525381_10201930672561471_1845216754_n

ชื่อโครงการ อบรมเชิงปฏิบัติการค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21

ในสังคมโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ผู้คนจำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นผู้ที่มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การทำงานอย่างรวมพลัง การสื่อสาร การใช้คอมพิวเตอร์ ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต และการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมข้ามชาติ (พิมพ์พันธุ์ เดชะคุปต์ และ พเยาว์ ยินดีสุข,2557:2-3) ด้วยความสำคัญของทักษะดังกล่าวทำให้ครูซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะเยาวชนจะต้องตระหนักถึงวิธีการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้เกิดแก่ผู้เรียน หนึ่งในนั้นคือทักษะการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมข้ามชาติ ที่จำเป็นต้องอาศัยทักษะทางภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างกัน

การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร การศึกษา การแสวงหาความรู้ การประกอบอาชีพ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิสัยทัศน์ของชุมชนโลก และตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมุมมองของสังคมโลก นำมาซึ่งมิตรไมตรีและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ช่วยพัฒนานักเรียนให้มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นดีขึ้น เรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างของภาษาและวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การคิด สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง มีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาต่างประเทศและใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารได้ รวมทั้งเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆได้ง่ายและกว้างขึ้น และมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต (กระทรวงศึกษาธิการ , 2551 : 193)

โดยพบว่าในปัจจุบันภาษาต่างประเทศที่มีบทบาทต่อสังคมโลกเป็นอย่างมากคือ ภาษาจีน ด้วยอิทธิพลการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีน เช่น คริสตศักราช 2008 ถึง 2011 ประเทศจีนมีอัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) เฉลี่ย 9.6% ต่อปี (Morrison ,2014 : 3) ส่งผลให้ประเทศต่างๆต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือต่อการแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากประเทศจีน สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนด้วยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่สูงถึงร้อยละ 10 ในปีคริสตศักราช 2008 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (Manarungsan ,n.d : 295) จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยการเร่งผลิตแรงงานที่มีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยแล้ว (Xuanbo ,2012 : 1) ได้ระบุว่าประเทศไทยสร้างผลกระทบในเชิงบวกจากการรับวัฒนธรรมของประเทศจีนอันเนื่องมาจากการสนับสนุนจากรัฐบาลและความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและจีนซึ่งสอดคล้องตามทฤษฎีการเรียนรู้ของสกินเนอร์

โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี มีแผนการเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะภาษาจีนแก่ผู้เรียน คือ แผนการเรียนศิลป์ – จีน และ วิทย์ – จีน ซึ่งจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยนอกจากการจัดการเรียนการสอนแล้วยังมีโครงการที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาจีนของนักเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการได้ฝึกทักษะภาษาจีนจากเจ้าของภาษา ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจีนมากขึ้น มีความตระหนักตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนภาษาจีน เกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาจีน และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่ผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการ สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการศึกษาของโรงเรียนศรียานุสรณ์ตามกรอบกลยุทธ์โรงเรียนที่ 4 โครงการที่ 4 โครงการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้อย่างน้อย 2 ภาษา          กิจกรรมที่ 2 พัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน

และจากสารสนเทศของการประเมินโครงการค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน ปีการศึกษา 2557 โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการฝึกอบรมของเคิร์กแพทริก พบว่าหลังจากที่ผู้เรียนเข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในการเรียนของตนเอง (Behavior level) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็จะพบว่าผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ยังคงขาดทักษะการเขียนภาษาจีน ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ภาษาจีน ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงวางแผนการดำเนินกิจกรรมโครงการให้มีลักษณะเป็นโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการเขียนภาษาจีน พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาจีน แก่ผู้เรียนเพื่อให้เป็นผู้ที่สามารถใช้ภาษาจีนในการติดต่อสื่อสารข้ามวัฒนธรรม (Cross – cultural) สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

  1. วัตถุประสงค์
  • เพื่อให้ผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการได้ฝึกทักษะภาษาจีนจากเจ้าของภาษา
  • เพื่อให้ผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจีนมากขึ้น
  • เพื่อให้ผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนภาษาจีนและเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาจีนมากขึ้น
  • เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่ผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการ

ใส่ความเห็น